ในปัจจุบันสังคมโลกรวมถึงสังคมไทยใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องสภาวะแวดล้อมรอบตัวมากขี้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน (Global warming) ที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรที่มีปริมาณมากขึ้น จากน้ำแข็งขั่วโลกหลอมละลาย อากาศที่ผันแปรผิดฤดูกาลจากในอดีต
ซึ่งในประเทศที่เคยมีช่วงฤดูหนาวไม่ยาวนักกลับมีฤดูหนาวที่มีระยะเวลายาวนานขึ้นและอุณหภูมิก็ลดต่ำมากกว่าปกติ ส่วนฤดูร้อนก็มีอุณหภูมิสูงมากกว่าปกติและสภาพอากาศแห้งแล้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้มนุษย์ สัตว์และพืชต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ เรียกได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้เกิดผลกระทบกันทั่วหน้า ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้และมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรบนโลกเช่นกัน สิ่งที่เราจะช่วยกันได้ในฐานะของนักเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) คือการนำเอาแนวคิดของ Green Technology มาใช้ ซึ่ง Green Computing ก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง โดยคำว่า Green นี้ ใครหรือองค์กรใดที่ต้องการอยากจะ “In trend” เพื่อให้ดูทันสมัย ต้องรีบนำเอาแนวคิดของ Green Technology มาใช้ หรือนำคำว่า Green มาใช้ อาทิเช่น Green Product, Green Company, Green Project หรือ อะไรก็ได้ที่มีคำว่า “กรีน” ดูแล้วจะช่วยรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงานได้ เช่น การใช้กระดาษ Re-used หรือการใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการ Recycle เป็นต้น แต่ในมุมมองของการพัฒนาแล้ว Green Technology แบ่งออกเป็นกี่ประเภท ครอบคลุมส่วนใดบ้างและจะวิธีการอย่างไรที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดย Greening Government ICT,1 ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐของประเทศอังกฤษ มีจุดมุ่งหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพอยู่อย่างยั่งยืน ได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ “Sustainable Operations on the Government Estate” (SOGE)2 เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปล่อยพลังงานความร้อน และการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม (carbon-neutral) ตลอดจนวางแนวทาง (Roadmap) การพัฒนา ICT เพื่อนำไปสู่รูปแบบสภาวะแวดล้อมที่ยั่งยืน โดย SOGE แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักสำคัญ เป็นดังนี้
กลุ่มที่ 1 : Technology
โดยเน้น Virtualization หรือ การ Consolidate Server เพื่อให้ใช้ได้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน โดยคำนึงถึงการออกแบบวัสดุอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้อย่างคงทนมากขึ้น หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้และใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ส่วนด้านซอฟต์แวร์และข้อมูลจะเน้นการบูรณาการเข้าไว้ด้วยกัน (Data centre consolidation) ทั้งนี้เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพสูง ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีระบบ video conferencing ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างทั่วถึงทำให้ลดการใช้พลังงานในการเดินทางเพื่อประชุมร่วมกัน และระบบ RFID ที่ใช้เพื่อการติดตามขนส่งสินค้าที่สามารถนำแทบบันทึกข้อมูล (Tag) กลับมาใช้ใหม่ได้
กลุ่มที่ 2 : Process
หลักคือให้ทบทวนกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) ว่ามีกระบวนการในส่วนใดบ้างที่สร้างมลภาวะและพิจารณาเลือกใช้ ICT มาช่วยในการปรับปรุง/แก้ไข/พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการ เพื่อลดการสร้างมลภาวะอย่างเช่น ลดการใช้กระดาษ การจัดการกับข้อมูลที่ไม่ได้ใช้เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการสำรองข้อมูล (Back up)
กลุ่มที่ 3 : Behaviour
พฤติกรรมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เทคโนโลยีหรือกระบวนการมีการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างการปรับพฤติกรรมเช่น การเอกสารจากหน้าจอหรือการส่งเอกสารระหว่างแผนกเป็นแบบดิจิจัล การปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อไม่ใช้งานนานๆ จะช่วยยืดอายุการใช้งาน การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการผลิต การลด/กำจัดของเสียในการผลิต เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ผลิตในด้าน ICT นั้น เป็นเสมือนตัวเร่งให้วัตถุประสงค์ที่จะรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้นสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น เพราะผู้ผลิตสินค้า/บริการด้าน ICT ต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้ผลิตมีศักยภาพสูงในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานลดน้อยลงด้วย อีกทั้งสามารถยืดอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้บริโภคสนใจเลือกนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาใช้งาน
Green Technology Roadmap
SOGE ร่วมกับ Capgemini’s Accelerated Solutions Environment (ASE)3 จัดทำแนวทางการจัดการ ICT เพื่อลดการสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่นยืน ตามรูปที่ 2 ซึ่งแนวทางที่นำเสนอได้แสดงให้เห็นถึงลำดับความสำคัญและช่วงเวลาที่ควรพัฒนา/ดำเนินการโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามองค์กรต่างๆ อาจจะใช้แผนพัฒนา/บริหารจัดการ ICT ของตนเอง แต่ควรให้ความสำคัญและวางแผนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา ICT ตามรูปที่ 2 ซึ่งอาจจะไม่ต้องดำเนินการตามทั้งหมด แต่ควรพิจารณาเลือกที่จะทำเพียงบางโครงการที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเองก็สามารถช่วยลดปริมาณก๊าชที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในภาพรวมของประเทศได้ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ในอนาคตประเทศไทยเราคงต้องวางกรอบการพัฒนา ICT ที่เน้นให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยผู้ผลิตสินค้า/บริการที่มีส่วนประกอบ (Feature) ที่ใช้ Green Technology หรือผ่านจากกระบวนที่รักษาสิ่งแวดล้อม (Green Process) จะไม่ใช่เป็นทางเลือกหรือสิ่งที่ทำให้สินค้า/บริการตัวนั้นแตกต่างและโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งอีกต่อไป แต่จะถูกระบุให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่สินค้า/บริการนั้นๆ จะต้องมีตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่ประกาศไว้
อ้างอิง
1. http://www.ogc.gov.uk
2. http://www.ogc.gov.uk/documents/SOGE_Guidance.pdf